ปาลิไลยก์

“ ป่ารักขิตวัน ”

พญาช้าง
-นั่นใครน่ะ … ออกมาให้เราเห็นตัวเดี๋ยวนี้นะ … ไม่เช่นนั้น … (ชะงักคำพูด)


พญาลิง

-ไม่เช่นนั้น … จะทำไมเรอะ


พญาช้าง

-เจ้าเป็นใคร … มาทำอะไรแถวนี้


พญาลิง

-เราน่าจะเป็นฝ่ายถามเจ้ามากกว่านะ
… เราคือ พญาลิงอาศัยอยู่ในป่ารักขิตวันนี้มานานแล้ว … เจ้านั่นล่ะ มาทำอะไรแถวนี้


พญาช้าง

-เราคือพญาช้างมีชื่อว่า ปาลิไลยกะ เกิดเบื่อหน่ายความวุ่นวาย บรรดาบริวารของเรา
เลยปลีกตัวออกมาอยู่ตามลำพัง


พญาลิง
-ฮ่า ๆ … ช่างวุ่นวายเหมือนบริวารของเราไม่มีผิด


พญาลิง

-ว่าแต่เจ้าเป็นถึงพญาช้างมาเที่ยวด้อมๆ มองๆ แอบดูมนุษย์อยู่ทำไม


พญาช้าง

-มนุษย์ผู้นี้ไม่เหมือนมนุษย์ทั่วไป มีลักษณะเป็นมหาบุรุษ เพียงเราเห็นท่วงท่า
และกริยาสงบเยือกเย็นในครั้งแรก เราก็เกิดความเลื่อมใส ศรัทธาเสียแล้ว

พญาลิง
-อืม … งั้นเจ้ากับเราเข้าไปไต่ถามให้รู้ความกันเถอะ

 


“ เมืองโกสัมพี ”


ชาวเมือง ๑
-พวกแกรู้หรือเปล่าว่า ตอนนี้พระพุทธเจ้าไม่ได้ประทับอยู่ที่ โฆสิตารามในเมืองโกสัมพีของพวกเราแล้ว


ชาวเมือง ๒

-พระพุทธองค์คงเสด็จไปแสดงพระธรรมเทศนาที่เมืองอื่นน่ะสิ


ชาวเมือง ๑
-ไม่ใช่หรอก ข้ารู้มาว่าพระเถระผู้เชี่ยวชาญพระวินัย เกิดบาดหมางกับพระเถระอีกรูป หนึ่ง ที่เชี่ยวชาญการแสดงธรรมเรื่องการผิดพระวินัยเล็กๆ น้อยๆ หนำซ้ำ พระลูกศิษย์ ของแต่ละฝ่าย ก็เข้าข้างพระอาจารย์ของตัวเอง จนเรื่องราวบานปลายแตกแยก กันไปใหญ่ ขนาดพระพุทธองค์ทรงห้ามปรามตักเตือนก็ไม่ยอมเชื่อฟังกัน พระพุทธองค์ จึงเสด็จไปจากโฆสิตารามเพียงลำพัง


ชาวเมือง ๒

-แย่จริงๆ … พระสาวกพวกนั้น ช่างว่ายากสอนยากจริงๆ


ชาวเมือง ๑
-เฮ้อ … อีกเมื่อไหร่พวกเราจะได้ฟังพระธรรม-เทศนาจากพระพุทธองค์


ชาวเมือง ๒
-นั่นน่ะสิ … พลอยทำให้ชาวเมืองโกสัมพีทั้งหลาย ไม่ได้ฟังพระธรรมเทศนาไปด้วย


ชาวเมือง ๑
-พระพุทธองค์คงจะเบื่อหน่ายพระสาวกที่ไม่อยู่ในโอวาท …ต่อไปนี้พวกเราก็ไม่ต้องไปทำบุญถวายอาหารบิณฑบาตกันเถอะ


ชาวเมือง ๒
-ดีๆ … ไปชวนชาวเมืองคนอื่นๆ ให้พร้อมใจทำเหมือนเรากันให้หมด


พระเถระ ๑
-หลายวันมานี้ เราต้องถือบาตรว่างเปล่ากลับวัดทุกวันเลย


พระเถระ ๒
-ในเมืองโกสัมพีนี้ ไม่มีใครใส่บาตร ทำบุญถวายอาหารพวกเราเลย … ถ้าเป็นอย่างนี้ต่อไป … พวกเราจะอยู่กันยังไง จะฉันอะไรกันเข้าไปล่ะนี่


พระเถระ ๑
-บรรดาชาวเมืองไม่พอใจที่พวกเรามัวแต่ถกเถียง ทะเลาะบาดหมางกัน ไม่ยอมเชื่อฟังพุทธโอวาท จนเสด็จไปจากพวกเรา


พระเถระ ๒
-เฮ้อ ! ตอนนี้พระพุทธองค์เสด็จประทับอยู่ที่ไหนนะ


พระเถระ ๑
-ถึงตอนนี้ แม้พวกเราจะสำนึกผิด แต่เป็นช่วงเข้าพรรษา ก็ไม่อาจออกติดตามพระพุทธองค์ได้

 



“ พระเชตวันมหาวิหาร กรุงสาวัตถี ”


อนาถบิณฑิกเศรษฐี
-พระอานนท์ … ข้าพเจ้า และนางวิสาขา พร้อมกับเหล่าเศรษฐีตระกูลใหญ่ในกรุงสาวัตถี ทราบมาว่าขณะนี้ พระพุทธเจ้าประทับอยู่เพียงลำพังในป่ารักขิตวัน ได้พร้อมใจกันส่ง หนังสือถวายท่าน เพื่อให้เชิญเสด็จพระพุทธองค์มาประทับที่พระเชตวันมหาวิหารแห่งนี้ เพื่อพวกเรา และชาวกรุงสาวัตถีจะได้ถวายอาหารบิณฑบาต และฟังธรรมจาก พระพุทธองค์บ้าง ขอให้ท่านรับเป็นธุระด้วยเถิด


พระอานนท์
-ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี เรื่องนี้ อาตมาจะขอรับเป็นธุระเอง … นี่ก็ออกพรรษาแล้ว อาตมากับภิกษุอีก ๕๐๐ รูป จะเดินทางไปป่ารักขิตวัน เพื่อเชิญพระพุทธองค์ เสด็จมาประทับที่นี่
ท่านจงวางใจเถิด


อนาถบิณฑิกเศรษฐี
-โอ … นับเป็นบุญกุศลของพวกเราที่จะได้เข้าเฝ้าฟังธรรมจากพระพุทธองค์อีกครั้ง

 

พระพุทธเจ้า
-ปาลิไลยกะ .. นั่นคือ พระอานนท์ เป็น พุทธอุปัฏฐาก และพระภิกษุสาวกของเราเอง … ให้ท่านเข้ามาเถิด


พระพุทธเจ้า
-พญาช้าง...พญาลิง เราขอขอบใจในน้ำใจของพวกเจ้าที่คอยปรนนิบัติดูแลเราในป่าแห่งนี้


พระพุทธเจ้า
-บัดนี้ ถึงเวลาที่เราจะต้องกลับไปสู่พระเชตวัน-มหาวิหารแล้ว

 


พญาช้าง
-สักกี่หมื่นปีจะมีมหาบุรุษเช่นนี้ บังเกิดในโลกอีก .. นับเป็นบุญวาสนาของเรา ที่ได้พานพบ แต่เสียดายยิ่งนักที่มีโอกาสได้ใกล้ชิดรับใช้เพียงไม่นาน พระพุทธองค์ต้องจากไปแล้ว ยากนักที่เราจะได้ปรนนิบัติใกล้ชิดอีก ต่อไปนี้คงไม่ได้พบพระพุทธองค์อีกแล้ว ..


พระเถระ ๑
-พระพุทธองค์ทรงให้อภัย ที่พวกเราวิวาทบาดหมางกันแล้ว … ดีนะที่พวกเราสำนึกผิด รีบเดินทางจากเมืองโกสัมพีมาเข้าเฝ้าพระพุทธองค์ที่พระเชตวันมหาวิหารทันเวลาพอดี


พระเถระ ๒
-นั่นน่ะสิ … พระพุทธองค์จะแสดงธรรมแล้ว ตั้งใจฟังเถอะ

 


พระพุทธเจ้า
-ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ธรรมวินัยนี้ จะเศร้าหมอง หรือรุ่งเรือง ก็ด้วยบริษัททั้ง ๔ คือ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก และอุบาสิกา หาใช่ด้วยบุคคลภายนอกไม่ เธอจงพิจารณา ผู้เป็นคนพาล อันประกอบด้วยธรรม ๓ ประการ คือ กายกรรมที่เป็นโทษ, วจีกรรมที่เป็นโทษ, มโนกรรมที่ เป็นโทษ … เธอทั้งหลายได้บวชในธรรมวินัย ที่เรากล่าวไว้โดยชอบแล้ว จงขยันหมั่นเพียรพยายาม
- เพื่อบรรลุมรรคผลที่ยังไม่บรรลุ
- เพื่อทำให้แจ้ง ซึ่งมรรคผลที่ยังมิได้ทำให้แจ้ง อย่างนี้ ..จึงจะงดงามในธรรมวินัยนี้โดยแท้